THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ความหลากหลายของพืชดอกล้มลุก บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน จังหวัดมุกดาหาร

สุฑารัตน์ คนขยัน1*, กัญญาพัชร ทานะเวช1, สุวรรณา ลำไย1 และ จรัญญา กุลยะ1
1ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด 45120
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: sutarat25@gmail.com
บทคัดย่อ

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพพรรณพืชเนื่องจากการทำลายถิ่นอาศัยนับเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวจึงมีความจำเป็นต่อการวางแผนการอนุรักษ์และจัดการถิ่นอาศัยให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มพืชเฉพาะถิ่นและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ วัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อสำรวจความหลากชนิดและประเมินสถานภาพของพืชดอกล้มลุก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน 
วิธีการ: กำหนดเส้นทางแนวสำรวจแบบ 4 เส้นทาง แบ่งเป็นเส้นทางตามลำห้วย 3 เส้นทาง และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 1 เส้นทาง เพื่อสำรวจความหลากชนิดของพืชดอกล้มลุก ระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ทำการระบุชนิด ลักษณะทางนิเวศวิทยา และจำแนกสถานภาพตามบัญชีของ IUCN red list 

ผลการศึกษา: พบพรรณไม้จำนวน 39 วงศ์ 95 สกุล 144 ชนิด พืชที่พบมากที่สุดคือวงศ์ขิง (Zingiberaceae) จำนวน 5 สกุล 15 ชนิด รองลงมาคือวงศ์ทานตะวัน (Asteraceae) จำนวน 10 สกุล 13 ชนิด พิจารณาตามสถานภาพพบพืชถิ่นเดียว 6 ชนิด ได้แก่ Camchaya spinulifera, Eriocaulon siamense, E. smitinandii, Impatiens noei, Platostoma fimbriatum และ Dimetra craibiana นอกจากนี้พบพืชหายาก 10 ชนิด พืชที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 3 ชนิด พืชใกล้สูญพันธุ์ 5 ชนิด พืชที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง 1 ชนิด ได้แก่ Amorphophallus brevispathus (Araceae) และพืชต่างถิ่นรุกรานจำนวน 2 ชนิด แสดงให้เห็นว่า พรรณพืชดอกล้มลุกในพื้นที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระดับท้องถิ่นสูงจำเป็นต้องเร่งมาตรการจัดการถิ่นอาศัยเพื่อการอนุรักษ์กลุ่มพืชเหล่านี้ไว้

สรุป: ข้อมูลสถานภาพของพรรณพืชดอกล้มลุก โดยเฉพาะพืชเฉพาะถิ่นและพืชมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ มีความสำคัญต่อการวางแผนการอนุรักษ์ เพื่อรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติให้คงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ รวมถึงเป็นฐานข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในอนาคต

คำสำคัญ: ความหลากหลาย; พืชดอกล้มลุก; เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน; จังหวัดมุกดาหาร


Download full text (Thai pdf): 24 clicks