THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

นิเวศวิทยาป่าผลัดใบและการใช้ประโยชน์ป่าชุมชนบ้านแม่เชียงรายลุ่ม อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง 

ศิริลักษณ์ ธรรมนุ1*, พิพัฒน์ เกตุดี2 และ Hee Han3,4*
1สำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ 10900
2สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 (ตาก) กรมป่าไม้ ตาก 63000
3ภาควิชาการเกษตร ป่าไม้ และทรัพยากรชีวภาพ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล โซล 08826
4สถาบันวิจัยการเกษตรและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล โซล 08826
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: luckpp60@hotmail.com
บทคัดย่อ

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: องค์ความรู้ด้านระบบนิเวศป่าไม้และการใช้ประโยชน์ สามารถนำไปสู่การวางแผนการจัดการป่าได้อย่างยั่งยืน การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความหลากชนิดชนิดไม้ต้น การใช้ประโยชน์จากการเก็บหาของป่า และปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านแม่เชียงรายลุ่ม อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง

วิธีการ: ทำการวางแปลงตัวอย่าง ขนาด 40 x 40 เมตร จำนวน 25 แปลง เพื่อสำรวจความหลากชนิดไม้ในป่าชุมชน นอกจากนี้ มีการสำรวจข้อมูลจากตัวแทนครัวเรือนด้านการใช้ประโยชน์จากการเก็บหาของป่า โดยใช้แบบสอบถาม จำนวน 159 ครัวเรือน 

ผลการศึกษา: ป่าชุมชนประกอบด้วยชนิดไม้ทั้งหมด 197 ชนิด 144 สกุล ใน 62 วงศ์ มีค่าความหลากชนิดระดับปานกลางตาม Shannon-Wiener Index เท่ากับ 2.491 ± 0.281 พบพืชที่ให้ประโยชน์ด้านสมุนไพร จำนวน 160 ชนิด พืชอาหาร 89 ชนิด สารเคมีในเนื้อไม้ 37 ชนิด ไม้ฟืน 32 ชนิด และเส้นใย 12 ชนิด อย่างไรก็ตาม พบว่า มีชนิดไม้ 26 ชนิด จัดอยู่ในบัญชีรายชื่อพืชที่กำลังถูกคุกคามหรือมีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามของ IUCN Red List of Threatened Species ส่วนการใช้ประโยชน์จากการเก็บหาของป่า พบว่าราษฎรส่วนใหญ่พึ่งพิงการใช้ประโยชน์จากป่าถึงร้อยละ 68.55 มีมูลค่าสูงถึง 1,871,100 บาทต่อปี หรือ ร้อยละ 6.35 ของรายได้รวมของชุมชนต่อปี ปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้ประโยชน์การเก็บหาของป่า ได้แก่ เพศหญิง ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี สถานภาพสมรส อาชีพเกษตรกร และผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดการป่าอยู่ในระดับมากที่สุด

สรุป: ความหลากหลายของพืชพรรณในพื้นที่ป่าชุมชนเป็นแหล่งสนับสนุนการดำรงชีวิตที่ดีของชุมชนโดยรอบป่าชุมชนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปวางแผนการจัดการป่าชุมชนในด้านส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของป่าและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน 

คำสำคัญ: นิเวศวิทยาป่าไม้; ป่าผลัดใบ; ผลิตผลป่าไม้รอง; การจัดการป่าชุมชน


Download full text (Thai pdf): 28 clicks