THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ความหลากหลายของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกตามระดับความสูง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา - บาลา จังหวัดนราธิวาส

ชนันรัตน์ นวลแก้ว1, สุเนตร การพันธ์2, วรรณา มังกิตะ1, ภัทราพร ผูกคล้าย3 และ แหลมไทย อาษานอก4*
1สาขาวิชาการจัดการป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่ 54140
2สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลาบาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาส 96160
3สาขาวิชาชีววิทยาประยุกต์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่ 54140
4สาขาวิชาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่ 54140
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: lamthainii@gmail.com
บทคัดย่อ

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: ความหลากชนิดของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพสิ่งแวดล้อมและการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อนุรักษ์ได้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความหลากชนิดและการกระจายตามระดับความสูงของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา 

วิธีการ: กำหนดเส้นสำรวจสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกตามลำห้วยในแต่ละระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล คือ 50, 200, 400, และ 600 เมตร สำรวจทุกเดือน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – 2564 วิเคราะห์การจัดกลุ่มตามระดับความสูง ค่าดัชนีความหลากชนิดและความชุกชม

ผลการศึกษา: พบชนิดสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 35 ชนิด ใน 25 สกุล และ 5 วงศ์ มีค่า Shannon-Weiner index ค่า Simpson index และค่าความสม่ำเสมอ เท่ากับ 1.40 ±0.37, 0.37 ±0.15 และ 0.71 ±0.17 ตามลำดับ สถานภาพทางการอนุรักษ์ พบเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีรายชื่ออยู่ใน IUCN Red List เท่ากับ 6 และ 34 ชนิด ตามลำดับ ชนิดที่มีระดับความชุกชุมพบบ่อยมาก 6 ชนิด เช่น จงโคร่ง (Phrynoidis asper) กบเขาหลังตอง (Chacorana raniceps) และกบหลังจุด (Pulchrana signata) ส่วนที่ระดับความชุกชมพบบ่อย ปานกลาง น้อย และน้อยมาก มีค่าเท่ากับ 2, 5, 7 และ 15 ชนิด ตามลำดับ จัดกลุ่มสังคมสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกตามระดับความสูง ได้ 3 สังคมย่อย คือ สังคมสัตว์ะดับพื้นที่ต่ำ (50 m a.s.l.) ระดับพื้นที่ปานกลาง (200-400 m a.s.l.) และระดับพื้นที่สูง (600 m a.s.l.) โดยสังคมสัตว์ระดับพื้นที่ต่ำมีค่า Shannon-Weiner index และค่าความสม่ำเสมอสูงสุด (1.57 ±0.31 และ 0.85 ±0.11 ตามลำดับ) ระดับพื้นที่ปานกลางมีชนิดและค่า Simpson index สูงสุด (31 ชนิด และ 0.44 ±0.14 ตามลำดับ) ชนิดที่พบบ่อยมากและกระจายได้ทั่วไป คือ กบลายหินเมืองใต้ (Amolops larutensis) และกบทูด (Limnonectes blythii

สรุป: สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมีแปรผันตามระดับความสูงและจำเพาะกับถิ่นอาศัยแบบมลายู ดังนั้น การวางแผนการอนุรักษ์จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงถิ่นอาศัยเฉพาะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์และการจัดการอย่างยั่งยืน

คำสำคัญ: ความหลากหลายทางชีวภาพ; การจัดการสัตว์ป่า; องค์ประกอบชนิด; ป่าดิบชื้นแบบมลายู


Download full text (Thai pdf): 20 clicks