THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ความหลากชนิดของนกบริเวณพื้นที่ชายป่าธรรมชาติติดต่อกับพื้นที่เกษตรกรรม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าสองแคว จังหวัดพิษณุโลก

ศุภเลิศ ปั้นพุ่มโพธิ์1, ณัฐพงษ์ หงษ์ทอง2, วรรณา มังกิตะ1, ภัทราพร ผูกคล้าย3 และ แหลมไทย อาษานอก4*
1สาขาวิชาการจัดการป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่ 54140
2เขตห้ามล่าสัตว์ป่าสองแคว จังหวัดพิษณุโลก 651610
3สาขาวิชาชีววิทยาประยุกต์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่ 54140
4สาขาวิชาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่ 54140
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: lamthainii@gmail.com
บทคัดย่อ

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: ความหลากหลายของนกสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ระบบนิเวศ รวมถึงใช้จัดการความถิ่นอาศัยที่เกิดจากการรบกวนของมนุษย์ได้ วัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อทราบความหลากชนิดและความแตกต่างของนกบริเวณพื้นที่ชายป่า และลักษณะสังคมพืชที่เป็นปัจจัยกำหนดการปรากฏของนก บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าสองแคว 

วิธีการ: กำหนดแนวเส้นระยะทาง 1,500 เมตร ทั้งหมด 4 เส้นทาง แต่ละเส้นทางพาดผ่านพื้นที่ศึกษา 3 ประเภท คือ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชายป่า และพื้นที่ป่าธรรมชาติ มีระยะทาง 500 เมตรในแต่ละประเภท แต่ละแนวสำรวจสำรวจความหลากชนิดนกด้วยวิธี Point count โดยกำหนดให้แต่ละจุดสำรวจมีระยะห่างกัน 150 เมตร (11 จุดต่อแนวสำรวจ) สำรวจทุกเดือนตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 รวม 12 เดือน พร้อมเก็บข้อมูลสังคมพืช ในแปลงตัวอย่างขนาด 10 เมตร x 10 เมตร ทุกจุดสำรวจ เพื่อวิเคราะห์ความหลากชนิดนกและความสัมพันธ์กับลักษณะสังคมพืช

ผลการศึกษา: พบจำนวนชนิดนกทั้งหมด 120 ชนิด 52 วงศ์ 15 อันดับ มีค่า Shannon-Weiner index (H’), Simpson’s index (S) และค่าดัชนีความสม่ำเสมอ (J) ของพื้นที่ศึกษา เท่ากับ 3.083±0.04, 0.087±0.13, 0.867±0.007 ตามลำดับ โดยมีสถานภาพเป็นชนิดสัตว์ป่าคุ้มครอง ชนิดในบัญชี CITES ชนิดในบัญชี IUCN และชนิดในบัญชีอ้างอิงของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เท่ากับ 117, 15, 120 และ 119 ชนิด ตามลำดับ พบนกที่มีระดับความชุกชุมปานกลาง 9 ชนิด เช่น นกโพระดกธรรมดา (Megalaima lineata) นกเขาใหญ่ (Streptopelia chinensis) ที่ระดับความชุกชุมน้อยและระดับความชุกชุมที่พบได้ยาก เท่ากับ 19 และ 92 ชนิด ตามลำดับ สามารถแบ่งสังคมนกตามลักษณะพื้นที่ได้  3 สังคมย่อย คือ  1) สังคมนกในพื้นที่เกษตรกรรม มีความเป็นอิสระต่อสังคมพืช นกที่พบเช่น นกกระจิบหญ้าอกเทา (Prinia hodgsonii) นกเอี้ยงหงอน (Acridotheres grandis) 2) สังคมนกในพื้นที่ชายป่า มีความสัมพันธ์กับขนาดพื้นที่หน้าตัดและความหนาแน่นของหมู่ไม้ ชนิดที่สำคัญ เช่น นกเฉี่ยวบุ้งกลาง (Coracina polioptera) นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ (Sitta frontalis) และ 3)สังคมนกในพื้นที่ป่าธรรมชาติ มีความสัมพันธ์กับขนาดการปกคลุมของเรือนยอด ชนิดที่สำคัญ เช่น นกจับแมลงคอน้ำตาลแดง (Cyornis banyumas) นกเดินดงหัวสีส้ม (Zoothera citrina

สรุป: การเกิดพื้นที่ชายป่าทำให้เกิดความแตกต่างของถิ่นอาศัย จนสามารถแบ่งสังคมนกตามลักษณะสังคมพืชได้อย่างชัดเจน สามารถใช้ข้อมูลความหลากชนิดนกและถิ่นอาศัยที่ได้ในการอนุรักษ์นกเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้

คำสำคัญ: สังคมนก; การจัดการสัตว์ป่า; การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์; ลักษณะถิ่นอาศัย


Download full text (Thai pdf): 33 clicks