THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

องค์ประกอบของสังคมพืช และการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลน บริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี

1
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: fforwct@ku.ac.th
บทคัดย่อ

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: ในอดีตพื้นที่ป่าชายเลนภาคตะวันออกมีการทำไม้และใช้ประโยชน์ค่อนข้างเข้มข้น ทำให้ป่าเสื่อมโทรมและฟื้นตัวได้ยาก ปัจจุบันมีการฟื้นฟูโดยปลูกโกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata) และอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนมามากกว่า 30 ปี วัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อศึกษาลักษณะสังคมพืช ปริมาณมวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอน ระหว่างปี พ.ศ. 2557, 2561 และ 2565 บริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี 

วิธีการ: กำหนดเส้นแนวสำรวจทุกระยะ 400 เมตร จากบริเวณชายฝั่งทะเล จำนวน 10 แนวสำรวจ จากนั้นวางแปลงถาวรขนาด 10×10 เมตร มีระยะห่าง 20 เมตร ในแต่ละแนว (ทั้งหมด 92 แปลง) เพื่อสำรวจพรรณไม้ และวิเคราะห์ค่าเชิงปริมาณ ค่าดัชนีความหลากชนิด และปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพของสังคมพืชป่าชายเลน 

ผลการศึกษา: พบชนิดพรรณไม้ในป่าชายเลนทั้งหมด 15 ชนิด 10 สกุล ใน 8 วงศ์ วงศ์เด่นคือ วงศ์ Rhizophoraceae, Combretaceae, Meliaceae, Acanthaceae, Euphorbiaceae, Malvaceae, Rubiaceae และ Lythraceae มีความหนาแน่นและพื้นที่หน้าตัดเฉลี่ย 2,217±113.67 ต้นต่อเฮกแตร์ และ 17.84±0.18 ตารางเมตรต่อเฮกแตร์ ตามลำดับ ความหลากชนิดพรรณไม้ตามค่าดัชนีของ Shannon-Weiner ค่อนข้างต่ำ (H'=1.21±0.08) พรรณไม้เด่น 5 อันดับแรก ได้แก่ โกงกางใบเล็ก โปรงแดง ฝาดดอกขาว ฝาดดอกแดง และตะบูนดำ ตามลำดับ โดยชนิดไม้รุ่นและกล้าไม้พบชนิดจำนวนชนิดรองลงมา คือ 8 และ 4 ชนิด ตามลำดับ ในส่วนมวลชีวภาพในปี พ.ศ. 2565 เท่ากับ 193.49 ตันต่อเฮกแตร์ และการกักเก็บคาร์บอนได้ 90.94 ตันคาร์บอนต่อเฮกแตร์ ซึ่งมีค่าลดลงจากปี พ.ศ. 2557 โดยมีมวลชีวภาพลดลง 8.63 ตันต่อเฮกแตร์ และการกักเก็บคาร์บอนลดลง 4.06 ตันคาร์บอนต่อเฮกแตร์ 

สรุป: โกงกางใบเล็ก เป็นพรรณไม้เด่นที่มีการเติบโตที่ดีและมีความเหมาะสมในการปลูกฟื้นฟูป่าชายเลน เนื่องจากมีส่วนช่วยต่อการเพิ่มความหลากชนิด ปริมาณมวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอน ดังนั้น การฟื้นฟูป่าชายเลนโดยใช้ไม้ชนิดนี้จึงมีความเหมาะสม แต่จำเป็นต้องอนุรักษ์และจัดการการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย

คำสำคัญ: การฟื้นฟูป่าชายเลน; โกงกางใบเล็ก; พรรณไม้เด่น; มวลชีวภาพ


Download full text (Thai pdf): 24 clicks